cropped-213040518_2598906993747382_5945162630590011101_n-1.jpg
“รวบรวมวิธีการกำจัดขยะเศษอาหารในบ้านฉบับแอดมินลุงเต่า”

แอดมินลุงเต่า
12.01.2023

          โพสนี้แอดมินจะมาคุยแบบยาวๆเรื่องการกำจัดขยะเศษอาหารในบ้านนะ จริงๆเรื่องนี้เป็นปัญหาที่ส่งผลในทุกระดับ ตั้งแต่ในบ้าน ชุมชน ประเทศ ไปจนถึงเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมระดับโลกเลย แอดมินคงไม่พูดซ้ำแล้วล่ะว่าเป็นปัญหายังไง เพราะเคยพูดไปบ่อยมาก แต่วันนี้อยากจะชวนคุยถึงวิธีแก้ปัญหาที่ได้ผลดีที่สุด นั่นคือการกำจัดขยะเศษอาหารตั้งแต่ต้นทาง หรือก็คือในบ้านเราเอง อย่างที่เคยบอกไปว่ามันมีวิธีการหลากหลายมาก วันนี้แอดมินจะรวบรวม จัดกลุ่ม และอธิบายให้ทุกคนเข้าใจตั้งแต่ภาพรวม ไปจนถึงหลักการแต่ละแบบว่ามีความแตกต่างกันยังไง เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการตัดสินใจว่าบ้านเราควรจะเริ่มทำด้วยวิธีไหนดี ถ้าพร้อมจะอ่านแบบยาวๆแล้วก็มาเริ่มกันเลย
 
          ขั้นแรกเรามาทำความรู้จักขยะเศษอาหารกันก่อน ในครัวเรือนทั่วไปส่วนใหญ่จะมาจากการเตรียมวัตถุดิบทำอาหาร การปอกเปลือก ตัด หั่น ส่วนที่ไม่ต้องการออก กับอีกส่วนก็จะมาจากอาหารที่กินเหลือแล้ว ซึ่งถ้าบ้านไหนทำอาหารจะรู้ว่าขยะเหล่านี้มันเยอะมาก แทบจะเกินครึ่งของขยะทั้งหมดในบ้านเลย
 
          สำหรับองค์ประกอบของขยะเศษอาหารนั้น ประมาณ 80% คือความชื้น หรือน้ำ ส่วนอีก 20% จะเป็นสารประกอบอื่นๆ เช่น โปรตีน แป้ง ไขมัน เป็นต้น จริงๆแล้วถ้าเราวางขยะเศษอาหารกองเล็กๆไว้บนดิน พอผ่านไปหลายเดือนหน่อยขยะพวกนี้ก็จะย่อยสลายจนกลายเป็นดินได้เองโดยเราไม่ต้องทำอะไร นั่นเพราะความชื้นในขยะจะค่อยๆระเหยออกไป ส่วนสารประกอบที่เหลือก็จะถูกแบคทีเรีย ยีสต์ รา โปรโตซัว (ซึ่งแอดมินจะขอเรียกรวมๆว่า จุลินทรีย์) ในธรรมชาติ ที่มีอยู่ทั้งในอากาศและในดิน ทำการย่อยจนโครงสร้างมันเปลี่ยนไปกลายเป็นฮิวมัสและแร่ธาตุต่างๆ
 
          จุลินทรีย์ที่ทำหน้าที่ย่อยสลายเศษอาหารก็แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ใช้ออกซิเจนในการย่อย กระบวนการย่อยแบบนี้จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ไม่มีกลิ่นเหม็นออกมา กับอีกกลุ่มคือจุลินทรีย์ที่ไม่ใช้อากาศในการย่อย ซึ่งกระบวนการนี้จะปล่อยก๊าซมีเทนและก๊าซอื่นๆที่ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นเน่า
 
          กลับมาที่เรื่องขยะในบ้านเราต่อ ตรงนี้แอดมินอยากให้ทุกคนเข้าใจวัตถุประสงค์เหมือนกันก่อนว่า เราต้องการกำจัดขยะเศษอาหารภายในบ้านเพื่อช่วยลดปัญหาขยะของชุมชน ลดภาระบ่อขยะของประเทศ และลดปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลกเรา แต่แน่นอนว่า ก็ต้องไม่ทำให้เกิดปัญหาในบ้านเราด้วย ดังนั้นสิ่งที่แอดมินให้ความสำคัญในการกำจัดขยะเศษอาหารในบ้านคือ ต้องไม่เหม็นเน่า ไม่เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค ไม่น่ารังเกียจ และไม่ยุ่งยากในการทำจนเกินไป ส่วนการได้ปุ๋ยหมักหรือไบโอแก๊สมาใช้ในบ้าน อันนี้แอดมินถือว่าเป็นเรื่องรองนะ

.
 
.
          เกริ่นมายาวแล้ว คราวนี้มาดูวิธีการกำจัดขยะเศษอาหารในบ้านที่แอดมินรวบรวมไว้บ้าง มีหลากหลายวิธี แต่ละวิธีก็มีรายละเอียด จุดเด่น และข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป แอดมินลองแบ่งกลุ่มตามรูปแบบการใช้งานแบบคร่าวๆไว้ตามนี้
 
1. แบบทิ้งอย่างเดียว ไม่เน้นได้ปุ๋ย
          ถ้าเป็นบ้านต่างจังหวัดที่มีพื้นที่เยอะๆ การขุดหลุมฝังกลบไว้ห่างจากตัวบ้านก็เป็นทางเลือกที่ไม่ต้องลงทุนอะไร แค่ขุดหลุมเทเศษอาหารแล้วเอาดินกลบ ไม่กี่เดือนเศษอาหารก็จะค่อยๆย่อยสลายกลายเป็นดิน ใครจะวิธีนี้ก็ต้องลงแรงเยอะหน่อยนะ

          แต่ถ้าอยากเพิ่มอุปกรณ์เพื่อความสะดวกมากขึ้น ลองดูแนวทางการทำแปลงผักแบบ Keyhole ที่จะมีปล่องตรงกลางเอาไว้ให้ทิ้งเศษอาหาร หรือจะใช้เป็นถัง Green Cone หรือไม่ก็ถังที่เจาะก้นฝังลงดินรูปแบบอื่นๆก็ได้ ลองหาตัวอย่างได้จาก youtube วิธีการเหล่านี้ก็จะทำให้ทิ้งเศษอาหารได้สะดวกขึ้น ไม่ต้องคอยกลบดินทุกครั้งเพราะมีฝาปิดมิดชิด
 
          วิธีเหล่านี้จะใช้หลักการย่อยเศษอาหารด้วยจุลินทรีย์ตามธรรมชาติทั้งจากในดินและในอากาศ รวมถึงไส้เดือน หนอน แมลง ก็จะเป็นตัวช่วยให้ขยะย่อยได้เร็วขึ้นด้วย การใช้งานก็แค่ทิ้งเศษอาหารลงไป ถ้าเต็มแล้วก็ย้ายไปทิ้งจุดใหม่ รอจนเศษอาหารย่อยหมดแล้วค่อยวนกลับมาทิ้งที่เดิม ซึ่งทุกๆวิธีเราอาจใช้ EM เพื่อช่วยให้ขยะย่อยได้เร็วขึ้นและช่วยลดกลิ่นได้ วิธีแบบนี้ไม่ต้องดูแลเยอะ แต่ก็จะใช้เวลาย่อยนาน เคลื่อนย้ายไม่ได้ และมีโอกาสเจอหนอนแมลงในหลุมหรือในถังเป็นเรื่องปกติ
 
2. แบบเติมวัสดุช่วยย่อย (Compost Starter)
          สำหรับการกำจัดขยะเศษอาหารวิธีนี้ โดยภาพรวมคือเป็นการนำเศษอาหารมาทำเป็นปุ๋ยหมัก ไม่ว่าจะเป็นการทำปุ๋ยหมักแบบไม่กลับกอง หรือจะเป็นการหมักปุ๋ยในอุปกรณ์ต่างๆ วิธีเหล่านี้จะต้องมีการเติมส่วนผสมอื่นๆลงไปกับขยะเศษอาหารเช่น ปุ๋ยคอก ใบไม้แห้ง หรือดิน โดยจุลินทรีย์ในปุ๋ยคอกจะเป็นตัวช่วยในการย่อยสลาย ส่วนวัสดุแห้งอื่นๆจะช่วยควบคุมความชื้นไม่ให้สูงเกินไป

          ในการทำปุ๋ยหมักแบบไม่กลับกองเราจะใช้วิธีใส่เศษอาหารสลับเป็นชั้นกับใบไม้แห้งและปุ๋ยคอก โดยให้เศษอาหารอยู่ตรงกลางเพื่อไม่ให้ส่งกลิ่นเรียกแมลง สามารถทำได้ทั้งแบบกองเปิดโล่ง ทำในวงตาข่าย หรือแม้แต่ทำในตะกร้าพลาสติก ถ้าใครสนใจแนวทางนี้แอดมินแนะนำให้ลองเข้าไปดูในกลุ่มทำปุ๋ยหมักวิศวกรรมแม่โจ้ จะมีข้อมูลและวิธีการให้ศึกษาเพิ่มเติมเยอะเลย

          ส่วนการทำปุ๋ยหมักในภาชนะปิด ไม่ว่าจะเป็นกล่องพลาสติก ถุงหมักปุ๋ย หรือภาชนะดินเผา จะใช้การคลุกเศษอาหารกับวัสดุช่วยย่อยก่อนแล้วค่อยเอาใส่ในภาชนะ (ยกเว้นแบบถังหมุน เพราะจะไปคลุกในถังด้วยการหมุน)

          การหมักแบบนี้ถ้าเราพลิกหรือคลุกกองปุ๋ยเพื่อเติมอากาศ และควบคุมความชื้นได้อย่างเหมาะสม จะช่วยให้การย่อยเสร็จได้ภายใน 1 เดือน เมื่อเสร็จแล้วเราก็จะได้ปุ๋ยหมักอย่างดีไปใส่ต้นไม้ หรือจะนำปุ๋ยนี้กลับมาใช้แทนวัสดุช่วยย่อยต่อก็ได้

          ข้อดีของการนำเศษอาหารมาทำปุ๋ยหมักก็คือได้ปุ๋ยคุณภาพสูงมาใช้ อาจจะเจอหนอนและแมลงได้บ้างแต่ก็ไม่เยอะเท่าแบบถังทิ้งเศษอาหารอย่างเดียว มีความยุ่งยากตอนทิ้งเพิ่มขึ้นนิดหน่อยเพราะต้องคลุกวัสดุช่วยย่อยทุกครั้ง และต้องเก็บสต็อกวัสดุช่วยย่อยไว้ด้วย
3. เครื่องย่อยเศษอาหารแบบใช้ไฟฟ้า
          ปัจจุบันเครื่องย่อยเศษอาหารขนาดเล็กที่ใช้ตามบ้านจะแบ่งได้ 2 ระบบ คือแบบมีจุลินทรีย์และไม่มีจุลินทรีย์

  • แบบมีจุลินทรีย์จะมีวัสดุช่วยย่อย (Compost Starter) แถมมากับเครื่อง หลักการทำงานก็คือเครื่องมันจะมีแกนหมุนที่คอยคลุกเศษอาหารกับวัสดุช่วยย่อยตลอดเวลา เป็นการช่วยเร่งกระบวนการย่อย และมีพัดลมคอยดูดความชื้นทำให้ไม่แฉะเกินไป ข้อดีหลักๆของเครื่องระบบนี้คือเราเปิดถังทิ้งเศษอาหารตอนไหนก็ได้ เศษอาหารส่วนใหญ่จะถูกย่อยกลายเป็นปุ๋ยภายใน 24-48 ชั่วโมง วันไหนเครื่องเต็มเราก็ตักปุ๋ยออกโดยเหลือติดเครื่องไว้ครึ่งนึงเพื่อให้เป็นวัสดุช่วยย่อยต่อไป แต่เครื่องระบบนี้ก็ต้องเสียบปลั๊กไว้ตลอด

  • แบบไม่มีจุลินทรีย์ จะใช้วิธีย่อยด้วยการอบแห้งและบดเศษอาหาร ใช้เวลาย่อยประมาณ 8-12 ชั่วโมง เมื่อเครื่องทำงานเสร็จ เศษอาหารจะกลายเป็นผงละเอียด เหลือปริมาณ 10-20% ของขยะที่ทิ้งไปตอนแรก เครื่องระบบนี้สามารถทิ้งกระดูกเล็กๆได้ด้วย และเมื่อใช้งานเสร็จก็ถอดปลั๊กได้ ไม่ต้องเสียบทิ้งไว้ แต่ก็มีข้อจำกัดที่เมื่อเริ่มทำงานแล้วจะไม่สามารถทิ้งเศษอาหารเพิ่มได้จนกว่าเครื่องจะทำงานเสร็จ
          ทั้ง 2 ระบบมีข้อดีคือสามารถวางในบ้านได้เลย อาจจะไว้ในห้องครัวหรือห้องนั่งเล่นก็ได้ การใช้งานไม่เลอะเทอะ ไม่มีปัญหาหนอน แมลง ทำให้การกำจัดขยะเศษอาหารในบ้านเป็นเรื่องง่ายขึ้น

          สำหรับผลผลิตที่ได้จากเครื่อง แม้ว่าจะเป็นระบบจุลินทรีย์แต่การย่อยก็ถือว่ายังไม่สมบูรณ์ อันนี้แอดมินลองสังเกตจากการที่ปุ๋ยขึ้นราเมื่อถูกความชื้น รวมถึงเวลานำไปหมักดินปลูกก็จะยังมีความร้อน แสดงว่าจุลินทรีย์ยังทำงานอยู่ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยจากเครื่องระบบไหน ก็ไม่ควรใส่ในกระถางเกิน 2-3 ช้อนโต๊ะต่อครั้ง ไม่เกิน 1 ครั้งต่อสัปดาห์ และควรพรวนหน้าดินทุกครั้งที่ใส่ด้วย

          วิธีใช้ที่ดีที่สุดคือการผสมดินปลูกแล้วหมักดินก่อนใช้ หรือจะนำไปเป็นวัสดุสำหรับทำปุ๋ยหมักร่วมกับปุ๋ยคอกและใบไม้แห้งก็ดีเหมือนกัน แต่เอาจริงๆเท่าที่แอดมินใช้งานมาทั้ง 2 ระบบ ทำให้รู้ว่าถ้าบ้านที่ทำกับข้าวทุกวัน ก็จะมีผลผลิตออกมาจากเครื่องย่อยเยอะมาก ถ้าไม่ใช่สายปลูกผักจริงจังยังไงก็ใช้ไม่ทัน และถ้าไม่รู้จะใช้ทำอะไร แค่เอาไปโรยบางๆตามต้นไม้ใหญ่ข้างทางก็พอ

          เครื่องย่อยแบบใช้ไฟฟ้านี้ถือว่าตอบโจทย์การกำจัดขยะเศษอาหารในบ้านได้ดีมาก ทั้งเรื่องความสะอาด ความสะดวกในการใช้ และความรวดเร็วในการกำจัดขยะ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยมูลค่าที่สูงขึ้นเช่นกัน

          สุดท้ายนี้คงบอกไม่ได้ว่าการกำจัดขยะเศษอาหารในบ้านวิธีไหนจะดีที่สุด เพราะแต่ละบ้านก็มีเงื่อนไขแตกต่างกัน แต่สิ่งที่บอกได้อย่างหนึ่งคือ ควรหาวิธีที่เราทำได้แบบไม่ลำบากเกินไป เพราะจะทำให้เราทำได้ต่อเนื่อง ไม่ท้อจนล้มเลิกไปซะก่อน แล้วเมื่อทุกบ้านลดปริมาณขยะเศษอาหารได้ ปัญหาขยะชุมชนก็จะถูกแก้ไขได้ง่ายและมีประสิทธิภาพขึ้นอย่างแน่นอน

          อ้อ ถึงจะบอกไม่ได้ว่าวิธีไหนดีที่สุด แต่ขอบอกได้เลยว่าถ้าแต่ละบ้านไม่ลงมือทำอะไร อันนี้ไม่ดีที่สุดแน่ๆ

         
" มาเริ่มกำจัดขยะเศษอาหารในบ้านกันเถอะ "
Share this article

Similar Posts